โทษฐานของการมีไอดอล

โทษฐานของการมีไอดอล



นักวิ่งหลายคนมี ไอดอลประจำตัว นั่นคือมีบุคคลอื่นเป็นต้นแบบในการก้าวตามหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ทำเรื่องยากๆ บางคนอยากวิ่งแต่ไม่ลงมือทำ พอได้เห็นใครสักคนสามารถทำสิ่งที่ตนทำไม่ได้จึงกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นเลิศ การเริ่มต้นทำอะไรเพราะอาศัยไอดอลเป็นแรงบันดาลใจไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การยึดติดกับไอดอลมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้ มาพิจารณากันว่าสำหรับนักวิ่ง อันตรายดังกล่าวนั้นมีอะไรบ้าง

1.                   เกิดพฤติกรรมการวิ่งที่ไม่ยั่งยืน : หากคุณชื่นชมนักวิ่งต้นแบบคนหนึ่งจนทำให้คุณอยากวิ่งแบบเขา เช่น แอบชอบนักวิ่ง โดยหวังว่าวันหนึ่งจะวิ่งเร็วได้อย่างเขา วันหนึ่งจะรูปร่างดีแบบเขา หรือเขาอาจจะชอบฉันก็ได้ คุณอาจคิดว่านี่เป็นแค่ความหวังลมๆแล้งๆที่วาบหวามใจ แม้สุดท้ายผลจะไม่เป็นดั่งฝัน แต่อย่างน้อยก็ได้ออกกำลังกาย ทำให้มีโอกาสได้วิ่งกับเขา ได้อยู่ใกล้ๆ ได้พูดคุย มองมุมนี้เห็นทีจะไม่มีผลเสีย แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งเขาโกรธหรือเกลียดคุณขึ้นมาล่ะ คุณจะไม่เลิกวิ่งหรอกหรือ เกิดวันหนึ่งเขาเลิกวิ่งล่ะ คุณจะไม่เลิกวิ่งไปด้วยหรือ ใช่ กว่าจะถึงวันนั้นคุณอาจชอบวิ่งไปแล้วก็ได้ คุณอาจเลิกหรือไม่เลิกวิ่งก็ได้ แต่มันจะไม่ดีกว่าหรือ หากเหตุผลในการวิ่งอยู่ที่ตัวคุณเองจริงๆ ไม่ใช่ผู้อื่น มันจะไม่ยั่งยืนกว่าหรือ หากคุณรักในสิ่งที่ทำ แทนที่จะทำเพราะรักในตัวของคนที่ทำสิ่งนั้น

2.                   นำพาความยุ่งเหยิงเข้ามาในชีวิต : นักวิ่งบางคนพอลุ่มหลงคลั่งไคล้ไอดอลมากๆก็เกิดจินตนาการและความคาดหวังว่าเขาต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งความจริงเขาอาจเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ การเป็นสาวกของใครสักคนสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เรามโนไปเรื่อยตามภาพที่รับรู้ จนถึงจุดหนึ่งก็ก่อให้เกิดความคาดหวังว่าในตัวเขา หากวันหนึ่งความจริงเปิดเผยว่าเขาผิดไปจากที่คิดก็พาลเกลียดเขาไปเลย ทั้งๆที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยประกาศว่าเขาเป็นอย่างนั้น คุณคิดเอาเองและคุณก็เสียใจ ท้ายที่สุดก็โกรธเกลียดเขาไปเองอยู่คนเดียว เลยแทนที่การวิ่งจะช่วยชำระล้างจิตใจให้สะอาดและสงบขึ้น กลับกลายเป็นสร้างความขุ่นข้องหมองใจ นอกเหนือจากการงานในแต่ละวันที่เหน็ดเหนื่อยมามากพออยู่แล้ว

3.                   ทำให้เกิดการบริโภคอย่างไร้เหตุผล : ลองสังเกตดูว่าเหตุใดสินค้าต่างๆจึงต้องทุ่มทุนจ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าด้วย ทำไมฝ่ายการตลาดหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าจึงต้องพยายามให้คนดังใช้สินค้านั้น เหตุผลง่ายๆที่ใครก็รู้คือเพราะคนดังมีผลต่อยอดขาย ผู้บริโภคจำนวนมากมีพฤติกรรมเลือกใช้สินค้าตามอย่างคนที่ชอบ ถามว่า หากเราใช้ของตามอย่างคนที่ชอบ เราใช้เหตุผลเรื่องคุณภาพ วัตถุประสงค์ในการใช้งาน และราคาที่สมเหตุสมผลมาเป็นหลักในการตัดสินใจหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะนี่คือการตัดสินใจด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา มากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ มันเป็นการทำให้ตนพึงพอใจเสียมากกว่า ในกรณีของนักวิ่ง เราพบการตัดสินใจแปลกๆแสดงออกมาในการเลือกรองเท้า กางเกงรัดกล้ามเนื้อ นาฬิกาจับเวลา หรือแม้กระทั่งเลือกงานวิ่ง ความคลาดเคลื่อนในการเลือกอุปกรณ์ให้ตรงกับสภาพร่างกายและจุดประสงค์ในการวิ่งเหล่านี้บางคนก็มาจากพฤติกรรมการเลียนแบบไอดอลนี่ล่ะ บางทีทำให้เสียเงินมากมายโดยใช่เหตุ และที่น่ากลัวคือบางครั้งมันนำพานักวิ่งคนนั้นไปสู่อาการบาดเจ็บในที่สุด

4.                   เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก : ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของการมีไอดอลคือเมื่อนักวิ่งที่เป็นไอดอลเกิดทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น หรือขัดแย้งกับไอดอลของคนอื่น บรรดานักวิ่งทั้งหลายที่ชื่นชมในตัวไอดอลคนนั้นก็พากันยกโขยงไปเปิดศึกกับอีกพวกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของชุมชนนักวิ่ง ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นได้ง่ายและไวกว่าสมัยก่อนมาก เรื่องดราม่าอาจบานปลายเกินกว่าปัญหาตอนต้นไปไกลจนนำไปสู่การประกาศตัวเป็นทีมนั้นทีมนี้ แทนที่เราจะเฝ้ามองความเป็นไปของผู้อื่นอย่างสงบ มีสติ และให้ความเห็นต่อกันฉันมิตรได้ก็กลับกลายเป็นบรรยากาศมาคุ หนักเข้าไม่ทีมเราก็ทีมเขาเลยต้องเฟดตัวออกจากวงการวิ่งไปเงียบๆ ทั้งๆที่ไอดอลทำให้เราเข้าสู่วงการวิ่งแต่กลายเป็นว่าก็เพราะไอดอลอีกนั่นล่ะที่ทำให้เราต้องออกจากวงการวิ่งไปด้วย



แม้ว่าการยึดถือไอดอลเป็นแรงบันดาลใจจะมีประโยชน์มากมาย ในขณะเดียวกันก็สามารถนำไปสู่ความเสียหายได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกมีไอดอล ตรงกันข้าม ผมสนับสนุนเต็มที่ให้เรามองหาบุคคลต้นแบบและเรียนรู้ที่จะชื่นชมคนอื่น เพียงแต่เมื่อยึดถือแล้วก็ต้องวางลงให้เป็นด้วย ชื่นชมอย่างมีสติ อาศัยเป็นแรงผลักดัน เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วก็เลิกพึ่งพา แล้วมองหาคุณค่าของตัวการกระทำนั้นๆโดยตรง สนใจคุณค่าและความหมายของกิจกรรมที่เราทำอยู่ รวมทั้งสนุกไปกับมันด้วย ด้วยวิถีทางนี้เท่านั้นการวิ่งจึงจะมั่นคง เพลิดเพลิน มีเหตุมีผล เป็นอิสระ และยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ว่าบุคคลต้นแบบนั้นจะยังคงอยู่หรือไม่ก็ตาม

หมายเหตุ :
(1) ภาพนักวิ่งภาพสุดท้ายไม่ทราบแหล่งที่มาและไม่ทราบว่าใครเป็นช่างภาพ จึงไม่ได้ระบุชื่อผู้ได้รับเครดิตภาพถ่าย อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้
(2) บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Refill ฉบับเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2560

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
Email : krit.bloomingtonbook@gmail.com
Facebook : กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ (Krit - Krittapas)
Instagram @krit_krittapas
Twitter @kritkrittapas
Youtube : Krittapas Channel

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

SEE ANGKOR WAT AND RUN

เบอร์ลินมาราธอน : สนามแข่งที่เอื้อต่อการทำลายสถิติ

ห้ามมี SEX ในคืนก่อนวิ่งจริงหรือไม่ ?