เบอร์ลินมาราธอน : สนามแข่งที่เอื้อต่อการทำลายสถิติ

เบอร์ลินมาราธอน : สนามแข่งที่เอื้อต่อการทำลายสถิติ
                                                         กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

ข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่งของวงการวิ่งมาราธอนประจำปี พ.ศ. 2557 ก็คือการทำลายสถิติโลกมาราธอนชายของ เดนนิส คิเมตโต (Dennis Kimetto) นักวิ่งวัยสามสิบปีชาวเคนย่า ในรายการเบอร์ลินมาราธอนเมื่อเดือนกันยายน 2557 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 2 นาที 57 วินาที เร็วกว่าสถิติโลกเดิม 26 วินาที ข่าวนี้ดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วโลกและส่งผลให้คิเมตโตกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากตัวนักวิ่งเจ้าของสถิติใหม่แล้ว ความสนใจจำนวนไม่น้อยยังพุ่งไปที่งานเบอร์ลินมาราธอนด้วย เนื่องจากว่าในแปดปีที่ผ่านมานี้มีการทำลายสถิติโลกที่สนามนี้ถึงห้าครั้ง ดังนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เบอร์ลินมาราธอนมีความพิเศษแตกต่างจากสนามอื่น เหตุใดสถิติมาราธอนมากมายถึงได้ถูกทำลายที่นี่



เบน คาร์เตอร์ (Ben Carter) แห่งสำนักข่าวบีบีซีได้วิเคราะห์และประมวลปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้เบอร์ลินเป็นสนามที่เอื้อต่อการทำเวลาที่ดีเอาไว้ เขาอ้างถึงความเห็นของ มาร์ค ไมลด์ (Mark Milde) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการแข่งขันว่ามีปัจจัยสำคัญสามประการคือ หนึ่ง เบอร์ลินมีเส้นทางวิ่งที่ราบเรียบและมีทางเลี้ยวไม่มากนัก โดยที่จุดปล่อยตัวมีความสูง 38 ม.เหนือระดับน้ำทะเล และตลอดทางวิ่งไม่มีช่วงไหนที่สูงกว่า 53 ม. และต่ำไปกว่า 37 ม. เหนือระดับน้ำทะเลเลย เมื่อเปรียบเทียบกับลอนดอนมาราธอนจะเห็นว่าลอนดอนมีทางวิ่งขึ้นๆลงๆมากกว่า  ทั้งยังมีการกลับตัวและการเลี้ยวมากกว่า ที่สำคัญนักวิ่งยังต้องปะทะเข้ากับต้นลมขณะที่วิ่งเลียบริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ ส่วนบอสตันนั้นช่วงเข้าเส้นชัยมีระดับความสูงที่ต่ำกว่าบริเวณจุดปล่อยตัวมากทำให้ขาดคุณสมบัติของเส้นทางวิ่งที่มีความราบเรียบสม่ำเสมออันเอื้อต่อการทำลายสถิติโลก ประการที่สอง ผู้เข้าแข่งขันในเบอร์ลินยังวิ่งบนยางแอสฟัลท์อีกด้วย เมื่อเทียบกับสนามอื่นที่เป็นพื้นคอนกรีตแล้วดูเหมือนว่านี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้นักวิ่งทำความเร็วได้ดีขึ้น และประการที่สาม สภาพอากาศในปลายเดือนกันยายนยังเอื้อต่อการวิ่งมากกว่า เพราะมีลมไม่มากนักและอุณหภูมิก็อยู่ในช่วง 12C ถึง 18C เท่านั้น คือกำลังเย็นสบาย ไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไปนั่นเอง สรุปก็คืออากาศดีและทางวิ่งที่ราบเรียบสม่ำเสมอส่งผลให้เบอร์ลินกลายเป็นสนามแห่งการทำลายสถิติ



แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อปี 2007 นี่เอง ทั้งๆที่มีการจัดการแข่งโดยกำหนดเส้นทางวิ่งเป็นถนนในเมืองมาตั้งแต่ปี 1981 แล้ว (ก่อนหน้านั้นต้องวิ่งผ่านป่าที่อยู่ใกล้เมืองด้วย) น่าสนใจว่าในเมื่อจัดการวิ่งตามเส้นทางนี้มาสามสิบกว่าปีแล้ว ทำไมถึงเพิ่งมีการทำลายสถิติมากมายเฉพาะในช่วงเจ็ดปีหลัง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

Marathon records - all set in Berlin
Paul Tergat
Haile Gebrselassie
Haile Gebrselassie
Patrick Makau
Wilson Kipsang
Dennis Kimetto
Kenya
Ethiopia
Ethiopia
Kenya
Kenya
Kenya
2003
2007
2008
2011
2013
2014
02:04:55
02:04:26
02:03:59
02:03:38
02:03:23
02:02:57


ในเรื่องนี้ รอส ทัคเกอร์ (Ros Tucker) นักสรีรวิทยาการออกกำลังกายแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งอัฟริกาใต้ ให้ความเห็นว่าเบอร์ลินมีการดึงนักวิ่งชั้นนำให้มาแข่งขันในในปริมาณพอเหมาะซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้นักวิ่งทำสถิติได้ดี เมื่อเทียบกับงานอื่นที่ผู้จัดพยายามดึงนักวิ่งแนวหน้าของโลกให้มารวมตัวกันมากๆเพื่อกระตุ้นการแข่งขันและเพิ่มโอกาสในการทำลายสถิติโลกแล้ว แต่กลายเป็นว่าแทนที่จะส่งผลให้นักวิ่งทำเวลาได้ดีขึ้น กลับยิ่งทำให้นักวิ่งทำเวลาได้แย่ลงด้วยซ้ำ เนื่องจากนักวิ่งแนวหน้าด้วยกันไม่มีใครอยากพลีกายตัวเองเพื่อดึงเวลาคู่แข่ง และบางครั้งนักวิ่งก็มีความเครียดมากเกินไปจนทำเวลาไม่ดี ในความเห็นของทัคเกอร์สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดในการทำลายสถิติควรมีนักวิ่งที่สามารถทำลายสถิติได้เพียงสองคนเท่านั้น โดยทั้งคู่ทำงานด้วยกันเป็นทีมแบบที่ได้เห็นกันในเบอร์ลินครั้งล่าสุด เมื่อ เจฟฟรีย์ มูไต (Geoffrey Mutai) เจ้าของแชมป์เบอร์ลิน บอสตัน และนิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้ชักนำคิเมตโตเข้าสู่การวิ่ง ได้วิ่งคู่มากับคิเมตโตจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสี่กิโลเมตรสุดท้าย และทำให้คิเมตโตกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอนต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 3 นาทีได้สำเร็จ หรือกล่าวอีกแบบก็คือการทำลายสถิติในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แชมป์มีเพซเซอร์เป็นแชมป์ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเบอร์ลิน



นอกเหนือจากความเห็นของทัคเกอร์แล้ว อดีตแชมป์ลอนดอนมาราธอนในปี 1982 อย่าง ฮิวจ์ โจนส์ (Hugh Jones) ยังแสดงทัศนะว่าการที่เงินรางวัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาลได้ทำให้เกิดนักวิ่งมาราธอนอาชีพขึ้น (คิเมตโตได้เงินรางวัล 130,000 ยูโร หรือประมาณ 5,350,000 บาท จากเบอร์ลิน และจะได้เงินรางวัลถึง 313,000 ยูโร หรือเกือบ 13 ล้านบาท หากเขาเป็นผู้ชนะในการเก็บคะแนน World Marathon Majors) ในเคนย่าและเอธิโอเปียการเป็นนักวิ่งมาราธอนอาชีพเป็นหนทางไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงฝึกฝนการวิ่งเพื่อลงแข่งขันเป็นอาชีพหลัก และเมื่อกำแพงทางการเมือง กฎหมาย และเศรษฐกิจ ที่ปิดกั้นผู้คนจากประเทศต่างๆได้ทลายลงในยุคปัจจุบันก็ทำให้นักวิ่งจากอัฟริกาสามารถเดินทางไปล่าเงินรางวัลได้ทั่วโลก นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถิติมาราธอนโลกถูกทำลายมากมายในช่วงหลัง



นักวิ่งหลายท่านคงตระเตรียมแผนอยู่ในใจว่าจะไปวิ่งที่ไหน หากต้องไปไกลถึงต่างประเทศก็คงดำเนินการเรื่องการเดินทาง ที่พัก และการสมัครวิ่งล่วงหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่านอกจากต้องมีกำลังทรัพย์สำหรับค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควรแล้ว (ค่าสมัครก็ปาเข้าไป 98 ยูโร หรือ 4,033 บาทแล้ว นี่ยังไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินกับที่พักเลย ไหนจะต้องขอวีซ่าอีก) ยังต้องมีกำลังกายระดับแนวหน้าด้วย เพราะคุณสมบัติในการสมัครของนักวิ่งมาราธอนชายต้องทำเวลาได้ไม่เกิน 2.45 ชม. หากอายุมากกว่า 45 ปี ต้องทำเวลาได้ไม่ต่ำกว่า 2.55 ชม. ส่วนนักวิ่งมาราธอนหญิงต้องทำเวลาได้ไม่เกิน 3 ชม. หากอายุมากกว่า 45 ปี ต้องทำเวลาไม่เกิน 3.20 ชม. ดูแล้วช่างเป็นการเรียกร้องคุณสมบัติของนักวิ่งที่โหดหินเหลือเกิน



เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหลายแล้วเห็นว่าเบอร์ลินยังเป็นเรื่องไกลตัวซึ่งอาจไม่ใช่เป้าหมายที่เป็นไปได้จริงสำหรับนักวิ่งโดยทั่วไป โดยเฉพาะประเภทวิ่งกินเที่ยวอย่างผม ฉะนั้น การเบนเป้าหมายระยะสั้นมาที่งานน่ารักๆในเมืองไทยกับประเทศในเอเชียก็ดูใกล้ตัวกว่า แต่ไหนๆก็อยากทำสถิติใหม่เสีย ด้วยเหตุนี้เลยเมียงมองเฝ้าควานหาการแข่งขันรายการใดที่มีปัจจัยเอื้อต่อการทำลายสถิติบ้าง สถิติโลกไม่มีทางทำลายได้อยู่แล้ว ขอทำลายสถิติตัวเองก็พอ แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบว่ามีใครไปสำรวจคุณลักษณะของแต่ละสนามเลย หรือเขาสำรวจไปแล้วแต่ผมหาไม่เจอก็มิทราบได้ เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะมีรายงานการสำรวจแบบที่ต่างประเทศเขาทำไว้หรือไม่ก็ตาม ขอให้นักวิ่งทุกท่านได้รับสถิติใหม่ในการวิ่งของแต่ละคน และหากพรนี้สำเร็จเป็นจริงขึ้นมาเมื่อใดก็อย่าลืมคำอวยพรของผมนะครับ

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
Krittapas Sakdidtanon
krit.bloomingtonbook@gmail.com
instagram : krit_krittapas
twitter : @kritkrittapas
Youtube : Krittapas Channel

เผยแพร่ครั้งแรกใน Thai Jogging Magazine, ธันวาคม 2557
ข้อมูลอ้างอิงและเครดิตภาพถ่ายจาก
references and photo credit : http://www.bmw-berlin-marathon.com/en/
                                                http://www.bbc.com/news/magazine-29480460


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

SEE ANGKOR WAT AND RUN

ห้ามมี SEX ในคืนก่อนวิ่งจริงหรือไม่ ?