วิ่งไปให้สุดฝัน หนังสือ “เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์”

วิ่งไปให้สุดฝัน
 หนังสือ “เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์” ของ คามิน คมนีย์
กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์



          “ถ้าฉันวิ่งมาราธอนได้ อะไรๆฉันก็ต้องทำได้

          คามิน คมนีย์ กล่าวไว้ไนหน้า 32 ของหนังสือเล่มแรกในชีวิตของเขาเรื่อง “เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์”  นี่คือหนังสือสร้างแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณได้ นอกจากนี้ยังแฝงคติความคิดลึกซึ้งเอาไว้ในเนื้อหาที่ตลกขบขันได้อย่างแยบยล  
  



คามิน คมนีย์ มีความใฝ่ฝันและทุ่มกายถวายชีวิตเพื่อบรรลุฝันนั้น ความฝันของเขาคือการเป็นนักเขียนแต่จนอายุล่วงเลยมาถึงวัยสามสิบห้า เขาพบว่าความฝันนี้ไม่มีทางเป็นจริงได้เลยถ้าเขาไม่เอาจริง ด้วยภาระหน้าที่การงานรัดตัว ความพะวงหวาดกลัวไม่กล้าตีจากชีวิตที่แน่นอนไปสู่วิถีทางอิสระ เขาเลือกผูกตัวเองกับงานราชการอันแสนมั่นคงแต่สกัดกั้นจินตนาการเสรีและบั่นทอนความฝันในการเป็นนักเขียนให้ริบหรี่ลงทุกวัน กระทั่งวันหนึ่ง “ชุมพล” เพื่อนรักของเขาได้จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ชุมพลมีความฝันเดียวกับเขา คืออยากเป็นนักเขียน แต่จนแล้วจนรอด ชุมพลก็ตายจากไปโดยที่ความฝันก็ยังคงเป็นแค่ความฝัน

“เราสองก็ไม่ผิดกับผู้คนมากมาย เฝ้าผัดผ่อนการทำความความฝันไปตลอดกาล ด้วยเรากริ่งเกรงขวากหนามนานา คิดว่าความฝันนั้นไม่อาจสร้างสรรค์ชีวิตมั่นคงปลอดภัย เราเห็นตัวอย่างคนเพ้อฝันมากมากพอ และเราก็ขลาดกลัวเกินไป” (หน้า 34-35)

คามินตั้งคำถามกับชุมพล (และกับตัวเอง) ต่อหน้ารูปภาพชุมพลที่งานศพ

“ชีวิตช่างไม่แน่นอน... ผมกลัวว่าจะตายไปอย่างเพื่อน (จ้องหน้ารูปถ่ายเพื่อนในงานศพ ถามเขาว่า นายได้ทำที่ชอบๆหรือเปล่า เพื่อนไม่ตอบ ผมทวนคำถามแล้วร่ำไห้... ตอนเป็นๆทำไมนายไม่ทำที่ชอบๆ... หา) (หน้า 35)

          หลังจากคามินลังเลอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาไม่นานเขาก็ลาออกจากราชการ มุ่งมั่นในเส้นทางนักเขียนเต็มตัว ทว่าไม่มีความฝันใดได้มาง่ายๆ เขาหลงทาง เมื่อพาตัวเองลงแข่งขันวิ่งมาราธอน แรกเริ่มเดิมทีนั่นเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยลดทอนความเจ็บปวดจากการหายไปตลอดกาลของเพื่อนรัก



          “น่าแปลกที่ยิ่งวิ่งไปๆ ความเศร้าโศกของผมก็ยิ่งดูเหมือนจะจางหาย” เขากล่าว

          ไปๆมาๆแทนที่เขาจะได้เขียนหนังสือ กลับกลายเป็นว่าเขาหลงใหลการวิ่งอย่างถอนตัวไม่ขึ้น อันนำไปสู่การมุมานะซ้อมอย่างหนักหน่วง ตระเวนเดินทางแข่งขันไปทั่วประเทศจนกวาดถ้วยรางวัลมาได้ครบทุกระยะ (มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และ ฟูลมาราธอน) เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้บอกเล่าเส้นทางของโลกนักวิ่งผู้พยายามเป็นนักเขียน เขาจะทำความฝันสำเร็จหรือไม่ บทสรุปทั้งมวลจะเปิดเผยตัวตนของมันภายหลังหนึ่งปีในโลกของ “นักวิ่งทาง”  [[* ผู้เขียนเล่นคำพ้องความหมาย ล้อเลียนคำว่า "นักวิ่งถนน" (road runner) กับ "นักเดินทาง" (traveler) ]]

          แต่ไม่ว่าฝันของเขาจะบรรลุหรือไม่ คามินกล่าวว่า

“ชุมพลต้องไม่ตายเปล่า และหากผมต้องตายลงเร็ววัน ผมก็ต้องไม่ตายเปล่า เป็นนักฝันที่ตายลงขณะพยายามทำฝันให้เป็นจริง อย่างไรเสียก็ดีกว่ามีชีวิตสิ้นไร้จินตนาการในนามของการทำมาหากิน” (หน้า 40)


 สำหรับมาราธอน การวิ่งยาว 42.195 กม. การวิ่งไม่ต่างกับชีวิต
สำหรับชีวิตยาวนาน 30, 40, 50, 60, 70, 80, 90 หรืออาจจะ 100 ปี ชีวิตไม่ต่างกับมาราธอน

มาราธอนเริ่มต้นขึ้นที่จุด start จบลงที่จุด finish
แต่ชีวิตเริ่มต้นตรงไหน และจบลงตรงไหนเล่า
เริ่มต้นที่การเกิด และจบลงที่การตาย ?

มาราธอนสิ้นสุดที่จุดสุดท้ายเพื่อรอวันเริ่มต้นที่จุดใหม่
ชีวิตสิ้นสุดตรงไหน แล้วไปเริ่มต้นได้อีกหรือเปล่า?

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นใดก็ตาม
ขอเพียงตื่นขึ้น
ปลุกจิตวิญญาณ “ฉันทำได้” ให้โชติช่วง


กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
Krittapas Sakdidtanon
krit.bloomingtonbook@gmail.com
instagram : krit_krittapas
twitter : @kritkrittapas
Youtube : Krittapas Channel
* บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน facebook ของ รางวัลนายอินทร์ อะวอร์ด



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

SEE ANGKOR WAT AND RUN

เบอร์ลินมาราธอน : สนามแข่งที่เอื้อต่อการทำลายสถิติ

ห้ามมี SEX ในคืนก่อนวิ่งจริงหรือไม่ ?